ประวัติพุทธศาสนาในอินเดีย
พระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. 240 – 312) ได้ส่งพระธรรมทูตจากอินเดียไปประกาศ พุทธศาสนา 9 สาย โดยสายที่ 8 พระโสณะและพระอุตระเถระได้เดินทางไปยังสุวรรณภูมิประเทศหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน (ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามและอินโดนีเซีย) ทำให้ไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธจากอินเดียมาตั้งแต่สมัยนั้น หลังจากสมัยพุทธกาล พุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองถึงที่สุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 1300 – 1700 คณะสงฆ์อ่อนแอลง รวมทั้งถูกศาสนาอื่นต่อต้านและบีบคั้น กอปรกับถูกชนชาติมุสลิมเข้ารุกรานและทำลายวัดวาอารามตลอดจนพระสงฆ์ ในที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 1700 พุทธศาสนาจึงเสื่อมลงและสูญหายไปจากอินเดียในที่สุด ในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษและได้นายเยาวหรลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) เป็นนายกรัฐมนตรี เนห์รูได้ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของประชาชนที่มาจากลัทธิและต่างศาสนาภายใต้แนวคิด “สหธรรม” ในช่วงนี้ พุทธศาสนาได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งโดยบุคคลสำคัญ 2 ท่าน คือ นายกรัฐมนตรีอินเดีย และ ดร. บิมเรา รามจิ เอมเบดการ์ (Dr. Bhimrao Ramji Ambedkar) ผู้นำชาวพุทธ โดยรัฐบาลอินเดียได้บูรณะพุทธสถาน ส่งเสริมการศึกษา พุทธศาสนาและก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เมืองนาลันทาและเมืองมคธ วิทยาลัยพุทธที่เมืองบอมเบย์ ส่งเสริมการเรียนภาษาบาลีที่เมืองกัลกัตตา รวมทั้งจัดงานฉลองพุทธชยันตี หรือ ครบรอบ 2,500 ปีของพุทธศาสนา โดยเชิญประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนามาร่วมฉลอง และสร้างวัดในบริเวณรอบพระมหาเจดีย์พุทธ คยาด้วย ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีบทบาทในเรื่องพุทธศาสนาในอินเดียอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2499 ดร. เอมเบดการ์ได้นำคนวรรณะต่ำประมาณ 5 แสนคน ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปะ รัฐมหาราษฏระ ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นการฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดียที่สำคัญ อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นเพียง 53 วัน ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ดร. เอมเบดการ์ก็เสียชีวิตลง ทำให้ชาวพุทธในอินเดียขาดผู้นำคนสำคัญไป แต่พิธีปฏิญาณตนเป็น พุทธมามกะดังกล่าว ก็ยังดำเนินมาทุกปี พระสงฆ์จากประเทศไทยได้รับเชิญไปร่วมงานด้วยทุกครั้ง ในขณะที่พุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมและสูญไปในช่วงปี พ.ศ. 1700 ประเทศไทยได้รับ พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของประเทศโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกทำให้ พุทธศาสนาในประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองและมีความมั่นคง เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศและกลายเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2499 ซึ่งทางการอินเดียได้จัดงานฉลองพุทธชยันตี หรือครบรอบ 2,500 ปีของพุทธศาสนา และได้เชิญประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งประเทศไทยร่วมฉลองและสร้างวัดที่เมืองคยานั้น รัฐบาลไทยได้ตอบสนอง โดยสร้างวัดไทยพุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ในปี 2501 ซึ่งเป็นวัดของรัฐบาลไทยแห่งแรกในประเทศอินเดียและในต่างประเทศ นับตั้งแต่นั้นมามหาเถรสมาคมและรัฐบาลไทยก็ได้สนับสนุนการดำเนินงานของวัดไทยพุทธคยามาโดยตลอด มีการส่งคณะสงฆ์คณะละ 4 รูป ที่เรียกว่า คณะปัญจวรรค มาบริหารวัดในฐานะพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบัน มีพระเทพโพธิวิเทศ เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต และเป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ตลอดเวลากว่า 50 ปี คณะพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดียทุกชุดได้ปฏิบัติหน้าที่ ในการทำนุบำรุงและเผยแผ่พุทธศาสนาในอินเดียและส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์นานาชาติในอินเดียอย่างแข็งขันและได้ผลดียิ่ง การดำเนินงานเผยแผ่พุทธศาสนาของวัดไทยในอินเดียมีทั้งเรื่องการจัดการอุปบรรพชา อุปสมบท การศึกษาพระปริตร และการเผยแผ่พุทธศาสนาของพระภิกษุสามเณร ตลอดจนการปกครองดูแลคณะสงฆ์ แม่ชี และเจ้าหน้าที่ของวัดที่พำนักอยู่ที่วัด รวมถึงการต้อนรับและจัดที่พัก อาหาร และการรักษาพยาบาลให้แก่ พระภิกษุสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่มาจาริกแสวงบุญเป็นจำนวนมาก ด้วยการทำงานอย่างขันแข็งของพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย ทำให้เกิดการจัดสร้างวัดไทยในอินเดียอีกจำนวนมาก อาทิ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ วัดไทยสิริราชคฤห์ วัดไทยนาลันทา วัดไทยไวสาลี วัดไทยเชตวัน เป็นต้น ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับพุทธศาสนามากขึ้น มีบุคคลต่างๆ ในวงราชการและการเมืองที่นับถือพุทธศาสนา มีโครงการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทาให้กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่เช่นในอดีต รวมทั้งโครงการพัฒนาสังเวชนียสถานให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนาในรัฐพิหาร รัฐอุตตรประเทศ และรัฐต่างๆ ในอินเดีย ซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดพุทธศาสนา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของรัฐต่างๆ ดังกล่าว อย่างยิ่ง พุทธศาสนาในอินเดียไม่เพียงแต่กระจุกตัวอยู่ในเขตวังเวชนียสถานเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่อื่นๆ อีกมากที่ยังไม่เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนมากนัก อาทิ วัฒนธรรมพุทธศาสนามหายานในแคว้นลดาข สิกขิม และธรรมศาลา เป็นต้น หรือ อิทธิพลของพุทธเถรวาทแบบประเทศไทยที่กระจายตัวอยู่ในกลุ่มคนไต ที่มีอัตตลักษณ์ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมคล้าย คนไทยล้านนนา คนไตเหล่านี้กจะจายตัวอยู่ทางภาคอีสานของอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐอัสสัมและอรุณาจัลประเทศ นอกจากนี้ ยังมีทางรัฐคุชราตซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของมหาตมะ คานธี และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน นเรนทรา โมดี ที่มีชาวฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเป็นแสนๆ คน ซึ่งในปี 2558 นี้ สถานทูตฯ ร่วมกับสำนักงานพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล มีแผนที่จะนำพระพุทธรูปไปมอบให้กับชาวพุทธคุชราต ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการส่งเสริมพุทธศาสนานอกเขตสังเสชนียสถานของสถานทูตฯ

โรงเรียนหนองไผ่
700 หมู่ 6 ต.หนองไผ่
อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์
ผู้จัดทำ
1.เด็กชายรชานนท์ พิทักษ์ชัยโสภณ เลขที่12
2.เด็กชายนวัช ลานสันทัด เลขที่15
3.เด็กชายภานุภัทร์ วงษ์วัติ เลขที่18
4.เด็กหญิงปนัดดา เขียนกัน เลขที่26
5.เด็กหญิงกมลชนก นวลปอน เลขที่27
6.เด็กหญิงกฤษฎาพร ภูครองหิน เลขที่29
7.เด็กหญิงปองขวัญ จันทร์แจ้ง เลขที่34
8.เด็กหญิงชญาณ๊ งามดี เลขที่36
9.เด็กหญิงธิดารัตน์ เพียสุริวงศ์ เลขที่37
10.เด็กหญิงเพชร ป้อมทอง เลขที่43