พระพุทธศาสนาในทวีปยุโรป

ประวัติความเป็นมา การขยายตัวของพระพุทธศาสนาจากซีกโลกตะวันออกไปสู่ตะวันตกมีมาตั้งแต่ยุคโบราณในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์ชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่ ดัง เสถียร โพธินันทะ ให้ทัศนะว่า “พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ดินแดนตะวันตกตั้งแต่เมื่อคราวตติยสังคายนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 ที่มีการส่งสมณทูตไปยังนอกชมพูทวีปครั้งแรก” แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่าพระพุทธศาสนาคลื่นแรกนั้นรุ่งเรืองและขยายตัวออกไปกว้างไกลแค่ไหนในครั้งนั้น หากข้อมูลนี้ถูกต้องนั่นก็แสดงว่ากระแสแห่งพระพุทธศาสนาได้เป็นที่รู้จักของชาวตะวันตกมานานแล้ว มีข้อมูลจากวรรณกรรมของผู้รู้ชาวตะวันตกบางท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าว่า “บรรดาชาวอินเดียที่เชื่อถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ต่างก็พากันสรรเสริญเยินยอ ถึงพระพุทธคุณต่างๆ นานา และให้เกียรติพระพุทธองค์ว่าเป็นเทพเจ้า” มีข้อมูลอ้างถึงการทำลายพระพุทธศาสนาว่า “สงครามศาสนาในคริสตวรรษที่ 13 เรียกว่าสงครามครูเสด ทำให้พระพุทธศาสนาถูกทำลายจากประเทศลัทเวีย, เอสโทเนีย, โครเอเซีย โดยฝีมือของกองทหารเพื่อพระคริสต์ของเยอรมัน” พันเอก(พิเศษ)นวม สงวนทรัพย์ให้ทัศนะว่า พัฒนาการของพระพุทธศาสนาในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. มาร์โค โปโล เดินทางกลับประเทศอิตาลีเขียนหนังสือ description of the World เล่าเรื่องพระพุทธศาสนาในประเทศจีน พ.ศ.2387 อาเธอร์ โชเปนเฮาเออร์เผยแพร่หนังสือปรัชญา The World as Will and Representation สดุดีพระพุทธศาสนาอย่างสูงส่ง พ.ศ.2416 ดร.เจมส์ มาร์ติน เบิลส์ ปราชญ์อเมริกานำหนังสือ Controversy at Panadura or Panadura Vadaya ไปพิมพ์เผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชาชนในภาคพื้นทวีปยุโรปและอเมริกาตื่นเต้นและสนใจอ่านกันมาก พ.ศ. 2422 เซอร์เอดวิน อาร์โนลด์ เขียนหนังสือ “ประทีปแห่งทวีปเอเชีย” พรรณนาพระพุทธประวัติและหลักพุทธศาสนธรรม จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาได้ขยายตัวเข้าสู่ยุโรปมานานแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ยุคโบราณเป็นต้นมาแต่ข้อมูลที่ชี้ถึงพัฒนาการของศาสนาพุทธในยุคนี้ขาดหายไป ที่ถือมีว่าหลักฐานยืนยันการเข้าไปของศาสนาพุทธยังดินแดนตะวันตกได้มั่นคงคือวรรณกรรมของชาวยุโรปที่บันทึกเรื่องราวของศาสนาพุทธ ชาวตะวันตกหันมาสนใจในพระพุทธศาสนาอันเนื่อมาจากหลักการอันลึกซึ้งของศาสนาพุทธที่แปลกแตกต่างไปจากวิธีการทางศาสนาดั้งเดิมที่นับถือกันอยู่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นช่วงหลังยุคล่าอาณานิคม นอกจากยังมีชาวพุทธยุโรปที่อีกหลายท่านที่พูดถึงเรื่องของพระพุทธศาสนาในยุโรปดังที่ เอดวาร์ด คอนซ์ (Edward Conze) ให้ทัศนะว่า ในขณะฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนาในตะวันออก ถูกทำลายไปฐานแล้วฐานเล่า ก็ได้มีบางสิ่งมาชดเชยเช่นกันตรงที่ว่า พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้าไปยังประเทศตะวันตกอย่างช้าๆ แต่มั่นคง โดยมีกระบวนซึมซับอยู่ 3 ระดับ คือ ปรัชญา วิชาการ และนิกาย 1) ระดับปรัชญาเริ่มขึ้นโดย อาเธอร์ โชเปนอาวเออร์(Schopenhauer) ในปี พ.ศ. 2362 และได้มีอิทธิพลต่อนักคิดรุ่นต่อๆ มา เช่น เบอร์กซอง เฮเลนา เปรโตวนา บลาวัตสกี ริเคิร์ท จัสแปอร์ส วิตตเกนสไตน์ และไฮเดกเกอร์ เขาเหล่านี้ได้รับอิทธิพลไปจากพระพุทธศาสนา และเมื่อยี่สิบกว่าปีทีผ่านมา มีวรรณคดีต่างๆ ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบความคิดทางพระพุทธศาสนากับนักคิดสมัยใหม่ของยุโรปต่างๆ มากมาย 2) ระดับวิชาการ ในช่วง 150 ปี มีเอกสารเกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ทั้งรูปแบบของวรรณคดีและศิลปะ เช่น รัสเซียศึกษาทัศนะพุทธแบบไซบีเรีย รีส เดวิดส์ (Rhys Davids) ศึกษาพระพุทธศาสนาแบบลังกา ชาวฝรั่งเศสศึกษาวรรณกรรมในเวียดนาม ต่อมาอเมริกาก็สร้างวิทยาลัยภาษาตะวันออกขึ้นในกองทัพและขยายตัวออกไปในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอเมริกา พระพุทธศาสนาได้พิสูจน์ตัวเองถึงความเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมอินเดียมากที่สุด ไม่มีแนวคิดแบบเอเชียแนวใดที่ได้รับความสนใจในยุโรปมากเช่นกับแนวคิดทางพุทธ ไม่มีศาสนาอื่นใดที่จะดึงดูดความสนใจของกลุ่มนักวิชาการ นักปรัชญาระดับหัวกะทิทั้งหลายไม่เพียงแต่ยอมคลุกคลีกับภาษาที่ยากที่พระพุทธศาสนาแฝงอยู่เท่านั้น แต่ผู้ที่มีจิตใจสูงส่งก็ได้ยอมลดตัวลงมาเพื่อเรียนความหมายของความอ่อนโยน ความลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาอีกด้วย 3) พระพุทธศาสนาในรูปนิกายแบบชาวบ้าน ได้ผุดขึ้นเกือบจะ 80 ปี มาแล้ว ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่นับถือนิกายโปรเตสแตนท์ นิกายพุทธก่อตัวขึ้นมาจากนิกายนอน คอนฟอรมิสต์เล็กๆ เน้นการปฏิบัติกัมมัฏฐานและประสบการณ์ทางจิต เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อชีวิตหมดจด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากลุ่มนี้ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจำนวนผู้นับถือและฐานะทางเศรษฐกิจ หนังสือของ ไดเซต ไตตาโร ซูซูกิ ในปี พ.ศ. 2473 ทำให้เกิดความตื่นตัวมากยิ่งขึ้น มีการไหลบ่าของกระแสหนึ่งชื่อว่า “เซ็น” อย่างไรก็ตามชาวพุทธแบบนิกายนี้จะสนใจอยู่เฉพาะกับกลุ่มของตัวเอง มีผลกระทบต่อสังคมโลกโดยภาพรวมน้อยมาก ไม่มีใครสามารถประเมินศักยภาพของชาวพุทธกลุ่มนี้ได้ ทุกๆ อย่างดูคลุมเครือไปหมด ไม่ว่าจะเป็นจำนวน แหล่งเงินทุน สถานภาพทางสังคมของสมาชิก แรงจูงใจ ความก้าวหน้าในการพัฒนาจิตใจ หลักคำสอนหรือขอบเขตที่มีอิทธิพล ลักษณะการเคลื่อนตัวของพระพุทธศาสนาไปยังประเทศตะวันตกนั้น ในคราวประชุมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ มีการนำเสนอข้อมูลทางวิชาการสอดคล้องกับข้อมูลข้างต้นว่า เมื่อพิจารณาตามประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาแผ่ไปสู่ตะวันตกเองตามธรรมชาติ ไม่มีการวางโครงการล่วงหน้า โดยที่ศาสนาและวัฒนธรรมตะวันออกรวมถึงพระพุทธศาสนาด้วยเป็นที่สนใจของนักปราชญ์ทางตะวันตกมาก ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้บรรจุภาษาสันสกฤต บาลี จีนและธิเบต เข้าในหลักสูตรการศึกษา ต่อมาได้มีการพิมพ์และแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นอันมาก นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงได้สนใจศึกษาพระพุทธศาสนา เช่น แม็ก มึลเลอร์ (Max Muler) ได้พิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกทั้งฉบับตะวันออก ทั้งฉบับยุโรป และหนังสือสำคัญๆ อีกหลายเล่ม รีส เดวิดส์ ได้พิมพ์พระไตรปิฎก และหนังสือพระพุทธศาสนาอื่นๆ ทั้งยังได้ตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ (Sir Edwin Arnold) เขียนหนังสือ “ประทีปแห่งเอเชีย”(Ligth of Asia) เป็นต้น...ในพุทธศตวรรษที่ 24 พระพุทธศาสนาไม่เพียงแต่เป็นที่สนใจของนักปราชญ์และนักประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นที่สนใจของปะชาชนผู้สนใจผู้แสวงหาศาสนา และแนวทางดำเนินชีวิตที่ดีกว่าศาสนาคริสต์ด้วย โชว์เปน เฮาเออร์ได้ประกาศตนเป็นพุทธศาสนิก และเขียนหนังสือแพร่หลายไปทั่วยุโรป แต่พระพุทธศาสนาเพิ่งตั้งลงมั่นคงในตะวันตกเมื่อตอนปลายพุธศตวรรษที่ 24 นี้เอง เกิดสมาคมต่างๆ อย่างแพร่หลายช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาได้ตั้งลงมั่นคงในทุกภูมิภาคของโลกตะวันตก แม้ผู้นับถือจะมีจำนวนน้อย แต่อิทธิพลของพระพุทธศาสนาก็แผ่ไปกว้างขวางมาก ตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาคลื่นใหม่ที่ขยายเข้าไปยังดินแดนตะวันตกเริ่มขึ้นในยุคใหม่ เป็นช่วงของการล่าอาณานิคมของชาวยุโรปเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 23 อันได้แก่ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส เป็นต้น เมื่อเข้ามาครอบครองดินแดนเอเชียแล้วสนใจพระพุทธศาสนา จากนั้นกลุ่มประเทศตะวันตกก็เริ่มหันมานับถือพระพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีทั้งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทและพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ส่วนลักษณะการศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนาของชาวตะวันตกมักศึกษาในรูปแบบมหาวิทยาลัย แล้วนำไปสู่การฝึกปฏิบัติขัดเกลา และเกิดองค์กรพุทธขึ้น ซึ่งต่างจากตะวันออกที่ฝึกศึกษาพระพุทธศาสนาในรูปแบบทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาจสรุปในประเด็นด้านประวัติความเป็นมาได้ว่า พระพุทธศาสนาแพร่ขยายเข้าสู่ยุโรปตั้งแต่เมื่อไรไม่มีหลักฐานยืนยันตายตัว ลักษณะการขยายตัวของพระพุทธศาสนาเท่าที่มีหลักฐาน เริ่มจากความสนใจของปัจเจกบุคคลชาวยุโรป จากนั้นก็ขยายตัวเป็นองค์กร ตลอดถึงการเคลื่อนตัวของกลุ่มชาวพุทธจากภูมิภาคตะวันออกเข้ายังยุโรป ทำให้เกิดชุมชนชาวพุทธขึ้น ชาวตะวันตกบางท่านมีความศรัทธาแรงกล้าบวชเป็นพระภิกษุ แล้วทำการเผยแผ่ในแถบประเทศภูมิภาคของตน มีการศึกษาแล้วเรียบเรียงวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาขึ้น ในสถาบันทางการศึกษาบางแห่งจัดให้มีการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาเกิดงานเขียนวิชาการด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น