คำว่าลามะหมายถึงอาจารย์ ในการปฏิบัติธรรมในทิเบต ให้ความสำคัญกับอาจารย์มาก โดยความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์มีผลต่อความสำเร็จของศิษย์ในการปฏิบัติตามสายตันตระ โดยถือว่าลามะเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ โดยเมื่อกล่าวสรณคมน์ ศิษย์จะระลึกถึงลามะเป็นที่พึ่งด้วย
ใน พ.ศ. 976 พระเจ้าลาโธ โธรี เย็นเซ เป็นกษัตริย์ทิเบตองค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนา ได้รับเครื่องบรรณาการจากตัวแทนชาวอินเดีย โดยนำคัมภีร์พระพุทธศาสนา และพระพุทธรูปเข้ามาในทิเบต ถือว่าเป็นครั้งแรกที่คนทิเบตได้รู้จักกับพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก เพราะชาวทิเบตยังนับถือลัทธิบอนซึ่งมีความเชื่อเรื่องภูติผีปีศาจอยู่มาก ชาวทิเบตเป็นชนชาติที่ชอบสงคราม ไม่มีอารยธรรมชั้นสูงเหมือนชนชาวเขาทั่วไป แต่ด้วยอิทธิพลของพุทธศาสนาจึงทำให้ทิเบตกลายเป็นผู้ใฝ่สันติสุข และเป็นชาวเขาที่มีอารยธรรมสูงส่งจนถึงมีอักขระพิเศษเพื่อพระศาสนา โดยนำแบบอย่างมาจากอักษรอินเดีย จากนั้นมาพระพุทธศาสนาจากอินเดียก็เข้าถึงทิเบตครั้งแรกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 และประดิษฐานมั่นคงในพุทธศตวรรษที่ 16
ใน พ.ศ. 1173 ถือว่าเป็นยุคประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของทิเบต พระเจ้าซรอนซันกัมโป สนับสนุนให้มีการศึกษาพุทธศาสนาจากคัมภีร์ที่นำเข้ามาตั้งแต่ยุคต้น (พ.ศ. 976) พร้อมดำเนินการปฏิรูปศรัทธาทิเบต ต่อมาประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยการสนับสนุนของพระมเหสี 2 พระองค์ คือพระนางเหวินเฉิง พระธิดาของจักรพรรดิถังไท่จงแห่งจีน และพระนางภริคุติเทวี พระธิดาของพระเจ้าอัมสุวารมาแห่งเนปาล ทั้งสองพระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนามหายานอย่างเคร่งครัด จึงได้นำพระพุทธรูปมาด้วยทั้งสองพระองค์ คือเจ้าหญิงเหวินเฉิง นำพระพุทธรูปชื่อโจโว มาประดิษฐานที่วัดซิลลากัง ในกรุงลาซา และเจ้าหญิงภริคุติเทวีได้นำพระพุทธรูปศากยมุนีที่สำคัญมาประดิษฐานที่วัดราโมเช ซึ่งเป็นวัดหลวง และมีความสำคัญรองเป็นอันดับสองในกรุงลาซา ช่วงนี้ได้มีชาวทิเบตเชื้อพระวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปศึกษาในจีน และพระภิกษุชาวจีนก็มาศึกษาในทิเบตเพื่อแปลพระคัมภีร์และพระสูตรจำนวนมาก