พระพุทธศาสนาเริ่มเผยแผ่เข้าสู่ประเทศอังกฤษ ประมาณ พ.ศ. 2393 โดย นายสเปนเซอร์ อาร์คี ได้พิมพ์หนังสือศาสนจักรแห่งบูรพาทิศ ออกเผยแต่ไม่มีผู้สนใจมากนัก จนกระทั่ง เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ ได้เขียนหนังสือ ประทีปแห่งเอเชีย พิมพ์ออกเผยจนได้รับความสนใจจากชาวอังกฤษ ต่อมาศาสตราจารย์ ที ดับเบิลยู ริส เดวิดส์ ได้จัดตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษออกเผย
ชาวพุทธกลุ่มแรกในเยอรมนี นำโดย ดร.คาร์ล ไซเกนสติกเกอร์ ได้ก่อตั้งสมาคมเพื่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในเยอรมนี ขึ้นที่เมืองเลปซิก เมื่อ พ.ศ. 2446 เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศเยอรมนี นอกจากนี้มีการจัดแสดงปาฐกถาธรรมและสนทนาธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นประจำ หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมาก คือ หนังสือพระพุทธวจนะ ซึ่งเป็นหนังสือที่แปลและเรียบเรียงจากภาษาบาลี เป็นภาษาเยอรมัน โดยพระภิกษุชาวเยอรมัน ท่านญาณดิลก หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอื่น ๆ กว่า 10 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย
พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้าสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยผ่านทางพ่อค้าชาวดัตช์ และชาวพื้นเมืองจากประเทศศรีลังกา ที่เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนในประเทศเนเธอร์แลนด์
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ได้มีชาวพุทธในกรุงเฮกได้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยการจัดตั้งชมรมชาวพุทธดัตช์ขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพบปะสังสรรค์ของพุทธศาสนิกชนในประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อดำเนินการเผยแผ่และกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามหลักของพระพุทธศาสนา