ศาสนสถานที่สำคัญในอินเดีย

ถ้ำอชันตา ได้ชื่อว่าเป็น วัดถ้ำในพุทธศาสนาที่งดงามและเก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างเมื่อ พ.ศ. 350 โดยพระภิกษุในสมัยนั้นได้ค้นพบสถานที่แห่งนี้ เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมกรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เจาะภูเขาเพื่อสร้างเป็นกุฏิ โบสถ์ วิหาร ฯลฯ เพื่ออาศัยอยู่อย่างสันโดษ เนื่องจากเป็นสถานที่ห่างไกลผู้คน ภายในเต็มไปด้วยงานแกะสลักหิน เป็นองค์เจดีย์ เป็นพระพุทธรูป และภาพจิตรกรรมฝาผนังถ้ำ เล่าเรื่องราวต่างๆ ในพุทธประวัติและชาดก ในปี พ.ศ. 2527 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดย องค์การยูเนสโก การค้นพบ:28 เมษายน พ.ศ. 2362 ข้าราชการทหารของสหราชอาณาจักร จอหน์ สมิธ (John Smith) ได้ค้นพบถ้ำนี้โดยบังเอิญ ถ้ำหมายเลข 1 เป็น ถ้ำพุทธมหายาน ที่ได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลกว่า มีภาพเขียนสีที่งดงามมากที่สุด แม้เวลาจะผ่านมานานถึงกว่า 1,500 ปี ภาพก็ยังคงสีสันและลายเส้นที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์

พุทธคยาหรือพระมหาโพธิเจดีย์ เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุด 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน และถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเวลากว่าสองพันห้าร้อยปีที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก ปัจจุบันพุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร อดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยาชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น อุเรล ในปัจจุบันพุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู และพุทธคยาได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2545
นาลันทามหาวิหาร พระเจ้าหรรษาวรรธนะ มหาราชพระองค์หนึ่งของอินเดีย ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1149-1191 ก็ได้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยนาลันทา หลวงจีนเหี้ยนจัง (พระถังซำจั๋ง) ซึ่งจาริกมาสืบพระศาสนาในอินเดียในรัชกาลนี้ ในช่วง พ.ศ. 1172-1187 ได้มาศึกษาที่นาลันทามหาวิหาร และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษา ที่รุ่งเรืองยิ่ง นักศึกษามีประมาณ 10,000 คน และมีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน พระมหากษัตริย์พระราชทานหมู่บ้าน 200 หมู่โดยรอบให้ โดยทรงยกภาษีที่เก็บได้ให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เล่าเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้งปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ ตลอดจนโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ การค้นพบ:ในยุคที่อังกฤษปกครองอินเดีย นักโบราณคดีจำนวนมากได้มาสำรวจขุดค้นพุทธสถานต่างๆ ในอินเดียโดยอาศัยบันทึกของท่านเฮี่ยนจัง คนแรกที่มาสำรวจ คือ ท่าน ฮามินตัน (Lord Haminton) ใน พ.ศ. 2358 แต่ไม่พบ ได้พบเพียงพระพุทธรูปและเทวรูป 2 องค์เท่านั้น ซึ่งสถานที่พบอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2403 นายพลคันนิ่งแฮม ได้มาสำรวจและก็พบมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงกองดินสูงเท่านั้น ต่อมาจึงได้ขุดสำรวจตามหลักวิชาการโบราณคดี มหาวิทยาลัยก็ได้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง บริเวณปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ และตรงหน้ามหาวิทยาลัยนาลันทาได้มีพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ที่เก็บรวมรวมโบราณวัตถุที่ขุดพบในมหาวิทยาลัยนาลันทา
พระสถูปปาวาลเจดีย์ เป็นสถานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขารเป็นครั้งสุดท้าย ต่อจากนั้นอีก 3 เดือน จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่กุสินารา ปัจจุบันปาวาลเจดีย์เหลือแต่ซากตอของเจดีย์ที่ทำด้วยหินแข็งมีสีเทา ซึ่งทางการญี่ปุ่นได้สร้างซุ้มมุงด้วยหลังคาสังกะสีเป็นทรงกลมทาสีขาวและมีรั้วเหล็กกั้นให้โดยรอบ
วัดป่ามหาวัน เป็นสถานที่เกิดพระสูตรหลายพระสูตร เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมทั้งบริวาร สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ครั้งแรกในโลกและเสาอโศกที่พระเจ้าอโศกได้จัดสร้างขึ้นเป็นพุทธสถาน
ถ้ำสัตตบรรณคูหา อยู่ที่ภูเขาเวภารบรรพต ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ ถ้ำสัตตบรรณคูหา อยู่เหนือถ้ำปิปผลิคูหาที่พักอาศัยของพระมหากัสสปะขึ้นไป ๑๒๐ เมตร เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน การประชุมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกขึ้นที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา โดยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอุบาลี เป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก สิ้นเวลา ๗ เดือน จึงเสร็จ
ถ้ำสุกรขาตา ตั้งอยู่ ณ เชิงเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย สถานที่พระสารีบุตรบรรลุเป็นพระอรหันต์ ผู้หมดกิเลสาสวะโดยสิ้นเชิง ในตอนกลางวันของวันมาฆบูชา วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หลังจาก "พระสารีบุตร" พระธรรมเสนาบดี อุปสมบทได้ 15 วัน
พระคันธกุฎี ตั้งอยู่ที่บนยอดเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ พระคันธกุฎีเป็นชื่อเรียกสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ เรียกเต็มว่า "พระมูลคันธกุฎี" ในพุทธประวัติ เล่าว่าสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าทุกแห่งจะมีผู้นำของหอมนานาชนิดไม่ว่าจะเป็นไม้หอม ดอกไม้หอม เป็นต้น มาบูชาพระพุทธเจ้ามิได้ขาด โดยประดับไว้ภายในที่ประทับบ้าง วางเรียงรายอยู่โดยรอบบ้าง โดยมุ่งบูชาพระพุทธเจ้าด้วยกลิ่นหอมจึงปรากฏว่าหลังวัดที่ประทับจะมีดอกไม้ที่แห้งแล้วถูกนำไปทิ้งไว้เป็นกองใหญ่ด้วยมีจำนวนมาก
สังเวชนียสถานสารนาถ ตั้งห่างจากเมืองพาราณสี เมืองศูนย์กลางทางศาสนาของศาสนาฮินดู ไปทางเหนือราวเก้ากิโลเมตร อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน หรือ แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล เหตุที่ได้ชื่อว่าสารนาถ เนื่องมาจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา เริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งแก่มหาชนทั้งหลาย และบ้างก็ว่ามาจากศัพท์ว่า สารงฺค + นารถ = ที่อยู่ของสัตว์จำพวกกวาง สารนาถยังรู้จักกันดีในชื่อ "อิสิปตนมฤคทายวัน" หรือ "ฤๅษีปัตนมฤคทายวัน" (อิสิปตนมิคทายวัน) แปลว่า ป่าอันยกให้แก่หมู่กวาง และเป็นที่ชุมนุมฤๅษี ภายในอาณาบริเวณสารนาถมี ธรรมเมกขสถูป เป็นพุทธสถานขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด สันนิษฐานว่าบริเวณที่ตั้งของธรรมเมกขสถูป เป็นสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาประกาศพระสัจจธรรมเป็นครั้งแรกที่นี่ วันเชตวันมหาวิหาร
เป็นอาราม (วัด) ที่สร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี บนที่ตั้งของเชตวัน หรือสวนเจ้าเชต นอกเมืองสาวัตถี ซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีซื้อมาด้วยเงินมากถึง 18 โกฏิ (ตามการนับค่าเงินในสมัยนั้น) วัดแห่งนี้นับว่าเป็นวัดและที่มั่นสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล และเป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุดถึง 19 พรรษาวัดเชตวันมหาวิหารเป็นสถานที่เกิดเรื่องราวต่าง ๆ ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามากมาย ปัจจุบันวัดเชตวันมหาวิหารเหลือเพียงซากโบราณสถาน ได้รับการบูรณะจากทางราชการอินเดียเป็นอย่างดี ตั้งอยู่ทางใต้ของแม่น้ำราปติ (Rapti) หรือแม่น้ำอจิรวดีในสมัยพุทธกาล นอกกำแพงเมืองสาวัตถีไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ ตำบลสะเหต (Saheth) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
สาลวโนทยาน เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ 4 ในสมัยพุทธกาลเป็นเมืองเอกหนึ่งในสองของแคว้นมัลละ อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมือง ปาวา เป็นที่ตั้งของ สาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานและเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า


โรงเรียนหนองไผ่
700 หมู่ 6 ต.หนองไผ่
อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์

ผู้จัดทำ

1.นายอนุชา สังข์จีน เลขที่ 12 ม.3/1
2.ด.ญ.พรรณทิวา ห้อยดอกหอม เลขที่ 20 ม.3/1
3.ด.ญ.พัชรี ศิลาเลิศ เลขที่ 22 ม.3/1
4.ด.ญ.ทิฆัมพร ทองไทย เลขที่ 25 ม.3/1
5.ด.ญ.ธิดารัตน์ สกุลตั้ง เลขที่ 26 ม.3/1